น้ำนมแม่น้อย แต่พอเพียง

ทันทีที่ออกมาจากท้องแม่ ทารกต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ จากที่เคยได้รับทุกอย่างจากแม่ผ่านสายสะดือ ทารกจะต้องหายใจทางจมูก กินอาหารทางปาก ระบบย่อยอาหารเริ่มทำงานเอง น้ำนมแม่ในวันแรก ๆ จึงมีปริมาณน้อยมาก แต่เป็นน้ำนมที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหารอย่างมหาศาลที่เราเรียกว่า น้ำนมเหลือง หรือ โคลอสตรัม นั่นเอง

การดูดกระตุ้นบ่อย ๆ ทำให้น้ำนมเริ่มมีปริมาณมากขึ้น ทีละน้อย สัมพันธ์กับระบบย่อยอาหารของทารกที่ค่อย ๆ เริ่มทำงาน น้ำนมแม่สามารถย่อยได้ง่าย ย่อยเร็ว สารอาหารในนมแม่จะถูกดูดซึมไปใช้ได้ทั้งหมด
แม่ทุกวันนี้ไม่รู้ว่าการที่น้ำนมแม่ในวันแรก ๆ มีปริมาณน้อย ๆ เพียงแค่ซึมเป็นหยด ๆ นั้นเป็นสิ่งปกติ เพราะกระเพาะของทารกแรกคลอดนั้นมีความจุเพียง 5-7 ซีซี หรือขนาดเท่าลูกแก้วเล็ก ๆ เท่านั้น ทารกไม่จำเป็นต้องกินน้ำนมมาก ๆ ในวันแรก ๆ เพราะมีสารอาหารที่สะสมมาจากในท้องแม่มากพอที่จะอยู่ได้สองถึงสามวันโดยไม่ต้องกินอะไรเลย
ธรรมชาติสร้างให้นมแม่มีปริมาณน้อยในวันแรก ๆ ก็เพื่อให้ทารกจำเป็นต้องดูดบ่อย ๆ ให้กระเพาะเล็ก ๆ ที่ไม่เคยทำงานมาก่อน ได้รับการฝึกทีละน้อย ๆ ระบบการย่อยและระบบการขับถ่ายก็จะค่อย ๆ หัดทำงานไปพร้อม ๆ กัน นอกจากนั้นการที่แม่ได้โอบกอดลูกบ่อย ๆ ในขณะที่ให้ดูดนมยังเป็นการช่วยให้ทารกปรับตัวเข้ากับโลกใหม่ที่แตกต่างจากโลกภายในท้องแม่อีกด้วย
ภาพแม่วัวที่ถูกรีดนมพุ่งเป็นสายใส่ถังใบใหญ่ เป็นภาพที่คนในปัจจุบันเห็นบ่อยกว่าภาพของแม่ที่ให้ลูกดูดนมจากเต้า
เมื่อแม่มือใหม่เห็นว่านมของตนเองนั้นเห็นแค่ซึมเป็นหยด ๆ บีบเท่าไรก็ไม่ออก ทำให้แม่มือใหม่เข้าใจว่าตนเองไม่มีน้ำนม เมื่อลูกร้องไห้เป็นอย่างมากเพราะไม่คุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากในท้องแม่โดยสิ้นเชิง กลับเข้าใจว่าลูกร้องเพราะได้กินนมไม่พอ
วิธีเตรียมนมผสมบนฉลากข้างกระป๋องก็ตอกย้ำให้เกิดความเข้าใจผิดมากยิ่งขึ้นด้วยการระบุปริมาณที่มากเกินกว่าความเป็นจริง เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดง่าย ๆ ที่ทำให้แม่คิดว่าทารกแรกคลอดต้องการกินนมมาก ๆ และคิดว่าตนเองไม่มีน้ำนมมากพอ
ช่วงสองถึงสามเดือนแรก ทารกที่กินนมแม่ จะต้องการดูดนมบ่อย ๆ เป็นสิบ ๆ ครั้งต่อวัน ถี่ห่าง ช้าเร็ว ไม่เป็นเวลาที่แน่นอน แม่ที่เตรียมตัวมาดี และมีผู้ให้คำแนะนำที่ถูกต้องจะไม่เป็นกังวล แต่จะตอบสนองความต้องการของลูกโดยไม่ถูกจำกัดด้วยเวลา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น